ตำนานและประวัติวัดพระธาตุแสงรุ้ง

 
ตำนานและประวัติวัดพระธาตุแสงรุ้ง

วัดพระธาตุแสงรุ้งแต่เดิมชาวบ้านเรียกชื่อว่า “วัดป่าดอยกองมู” ซึ่งเป็นภาษาไตใหญ่ ถูกค้นพบองค์พระธาตุอยู่กลางดอยเล็กๆในป่ารกทึบเมื่อปีพุทธศักราช๒๔๗๙ ถือเป็นพระธาตุเจดีย์และเป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ที่ขาดการบูรณะและรกร้างมายาวนาน นานจนหาประวัติและหลักฐานแถบไม่ได้เลย  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านสามหลังในปัจจุบัน (สาเหตุที่เรียกว่าบ้านสามหลังก็เพราะมีชาวบ้านมาพักอาศัยเพียงสามหลังคาเรือนในครั้งนั้น) แต่ปัจจุบันนี้หมู่บ้านแห่งนี้รวมเข้ากับหมู่บ้านแม่เมืองน้อย หมู่ที่๑๔ ตำบลแม่นาวาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่  ต่อมาปีพุทธศักราช๒๕๕๓ พระอาจารย์สินชัยชัยรัตน์ ได้เดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมาและมาทำการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง โดยร่วมด้วยคณะสงฆ์อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย ทั้งสายธรรมยุติและมหานิกายให้ความสนับสนุนและให้กำลังใจเพื่อร่วมกันสืบสานอายุของพระพุทธศาสนาด้านศาสนวัตถุ ตลอดจนคณะข้าราชการทหาร,ตำรวจ,พ่อค้าและประชาชนโดยทั่วไป ร่วมสนับสนุน และจึงได้ขนานนามชื่อวัดพระธาตุป่าดอยกองมูแห่งนี้เป็นชื่อใหม่ว่า ”วัดพระธาตุแสงรุ้ง” เมื่อปีพุทธศักราช๒๕๕๓.   ส่วนการค้นพบองค์พระธาตุก่อนหน้านั้นก็พบเพียงซากปลักหักพังและตัวฐานล่างขององค์พระธาตุเท่านั้นซึ่งมีขนาดกว้างและยาว๘x๘เมตร. ส่วนตัวเรือนขององค์พระธาตุนั้นได้พังทลายลงแล้วทั้งหมด   การพิสูจน์หาหลักฐานที่ไปที่มาก็ยังไม่แน่ชัดเลยว่า เคยมีการก่อสร้างองค์พระธาตุมาตั้งแต่ครั้งสมัยใด เพราะไม่มีตำนานหรือบันทึกใดๆได้กล่าวไว้ก่อนหน้านั้น อย่างชัดเจนพอที่จะเป็นหลักฐานได้บ้าง แต่เห็นทีก็มีเฉพาะก้อนอิฐดินเผาที่ใช้ก่อพระธาตุบางก้อนเท่านั้นที่มีรอยจารึกบางส่วนไว้ที่ก้อนอิฐดินเผาซึ่งเป็นภาษาขอม ส่วนข้อมูลอื่นๆหาได้ยังไม่ชัดเจน ต้องอาศัยศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้เกิดความใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงในยุคนั้นๆเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาหาหลักฐานอ้างอิงจากข้อมูลตามตำนานการสร้างเมืองต่างๆจากประวัติเมืองฝางบ้างเมืองไชยปราการบ้างและจากประวัติเชียงแสนบ้าง  เพื่อหาข้อมูลมาเทียบเคียงให้ได้ใกล้กับความเป็นจริงมากที่สุด   แต่ตามที่ได้พบจากการจารึกลงบนก้อนอิฐดินเผาที่ใช้ก่อพระธาตุนั้น เป็นภาษาขอม เพราะในสมัยนั้นอาจจะเป็นยุคของพญากล่อมดำ(ขอมดำ)เมืองอุโมงคเสลายังคงเรืองอำนาจอยู่จึงต้องใช้อารยธรรมพร้อมทั้งภาษา ตามรัชสมัยตามเหตุการณ์ในเวลานั้นๆ ตามตำนานบางฉบับได้กล่าวว่าเมืองอุโมงคเสลาของพญาขอมดำครั้งอดีตนั้นตั้งอยู่ระหว่างต้นสายน้ำแม่น้ำกกมีภูเขาล้อมรอบติดเขตพม่าด้านทิศเหนือ ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างเขตพื้นที่ตำบลท่าตอนอำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน เพราะครั้งอดีตเคยเป็นเมืองเก่าแก่ที่สร้างทับกันมาหลายยุคหลายสมัยเพราะทำศึกสงครามรบกันผัดกันแพ้ ผัดกันชนะ มาหลายครั้งหลายสมัยแล้ว

 
แต่ก็พอน่าจะอนุมานได้ว่าการก่อสร้างองค์พระธาตุในสมัยนั้นคงน่าจะอยู่ในยุคการปกครองของพระเจ้าพังคราชซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าพรหมมหาราชในอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมื่อระหว่างปีพุทธศักราช๑๔๕๘ถึงพระพุทธศักราช๑๕๔๑ หรืออาจจะอยู่ในยุคของพระเจ้าพรหมมหาราชปกครองเมืองเองก็ตามที่เมืองใหม่ไชยปราการเมื่อปีพุทธศักราช๑๖๖๕  เพราะในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก เพราะบางตำนานได้กล่าวว่าพระเจ้าพังคราชได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นชาวมอญนำมาจากประเทศศรีลังกา จุดประสงค์เพื่อมาช่วยเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ, พม่า

 
ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนครเชียงแสนและได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุติดตัวมาด้วยจึงมอบให้พระเจ้าพังคราชจำนวน๑๖พระองค์และพระเจ้าพังคราชจึงได้มอบพระบรมสารีริกธาตุให้แก่พระเจ้าพรหมมหาราชซึ่งเป็นพระราชบุตรเพื่อนำไปประดิษฐานที่พระธาตุจอมกิตติเมื่อปีพุทธศักราช๑๔๘๓และในสถานที่ต่างๆเพื่อให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น  หรืออาจจะเป็นเหตุการณ์หลังจากพระเจ้าพรมมหาราชได้รบกับขอมดำทำการขับไล่พวกขอมดำ จนสำเร็จออกจากเชียงแสนช่วงนั้นก็ได้ หลังที่ต้องตกเป็นเชลยมาหลายปี  มาภายหลังความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเกิดขึ้นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาด้านวัดวาอารามก็ทำให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นตามลำดับในสมัยนั้น แต่ก่อนสมัยนั้นยังต้องใช้อารยธรรมของขอมทั้งหมดทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนแต่เมื่อพอได้เป็นอิสระภาพแล้วก็มีการฟื้นฟูบ้านเมืองพร้อมพระพุทธศาสนาให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ในยุคของพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งหลังจากที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาครั้งแล้วครั้งเล่าในรัชสมัยของพระเจ้าพังคราชผู้เป็นพระราชบิดา ที่เคยสร้างพระธาตุจอมกิตติ ดั้งนั้นจึงพอสรุปความได้ว่าพระธาตุดอยกองมูหรือพระธาตุแสงรุ้งนี้ อาจถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราชเมื่อประมาณปีพุทธศักราช๑๔๘๓

 
 แล้วสมัยต่อมาในสมัยเมืองฝางที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็ยังมีการร่วมฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่อีกยุคหนึ่งในสมัยพระนางมะลิการาชบุตตรีของพระเจ้าฝางและพระนางสามผิวแต่ด้วยมีศึกสงครามเกิดขึ้นระหว่างเมืองฝางและพม่า บ้านเมืองเกิดโกลาหล บรรดาเจ้าเมืองต้องหาที่ซุกซ่อนสมบัติพัสถานไว้ในป่าบ้างใต้ฐานองค์พระธาตุบ้างในหุบเขาบ้างในเหวลึกหรือในถ้ำบ้าง ดังนั้นจึงมีประวัติการบอกกล่าวเล่าขานจากพวกชาวบ้านที่เล่าขานกันต่อๆมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้(อ่านต่อเรื่องเล่าจากชาวบ้าน)
สำหรับข้อมูลดังกล่าวที่ได้เรียบเรียงพอเป็นสังเขปนี้ ก็อาศัยการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากข้อมูลตามตำนานเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเมืองต่างๆ และให้อยู่ใกล้สถานที่ตั้งของพระธาตุแสงรุ้งมากที่สุด เพื่อจะนำมาผนวกนำมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดความใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น พร้อมกับต้องหาข้อมูลเพิ่มต่างๆจากคำบอกเล่าของชาวบ้านบ้าง จากการบอกกล่าวเล่านิมิตของพระอาจารย์สินชัยชัยรัตน์ก่อนที่ท่านจะทำการฟื้นฟูบูรณะพระธาตุอีกครั้ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ บ้างเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้เกี่ยวกับการคนคว้าหาประวัติการสร้างพระธาตุในครั้งอดีตว่าควรจะอยู่ในยุคสมัยใดเพียงแค่พอเป็นหลักฐานได้ 

 
ดั้งนั้นการที่จะหาหลักฐานที่ชัดเจนเมื่อครั้งอดีตนั้นคงทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะขาดหลักฐานขาดการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ แต่ก็ขอเพียงแต่ว่าเราเป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ดั้งเดิมถือเป็นศาสนาประจำชาติไทยอย่างไรเสียขึ้นชื่อว่าองค์พระธาตุเจดีย์ก็เปรียบเสมือนองค์แทนของพระพุทธเจ้าของพวกเราชาวพุทธ ควรจะช่วยกันรักษาไว้ให้ครบอายุของพระพุทธศาสนา๕๐๐๐ปี จึงพอสรุปได้ย่อๆแต่เพียงเท่านี้.(โปรดอ่านเรื่องเล่าตามนิมิตของพระอาจารย์ชัยรัตน์ ก่อนจะคิดบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์)

                                                           ซากปลักหักพังขององค์พระธาตุแต่เดิมที่ถูกค้นพบเมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๙

 
















                                                                      ภายใต้ฐานพระธาตุมีรอยจารึกเป็นภาษาขอมโบราณ

                                                     วางศิลาฤกษ์พร้อมเริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ 
                                         ดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องคาดว่าแล้วเสร็จ ปี พ.ศ.๒๕๕๙